Wednesday, May 7, 2008

ภาษาพาสนุก 2

ภาษาพาสนุก 2
’จารย์มด


วันนี้ ลองมาดูตัวอย่างการใช้คำบางคำ ซึ่งมักจะสร้างความสับสน
ให้เราอยู่บ่อย ๆ เริ่มเลยนะคะ เรื่องมีอยู่ว่า น้องเอ๋อไปงานคืนสู่เหย้าของ
โรงเรียนอนุบาลที่เธอเคยเรียน ขณะที่ยืนเหม่ออยู่ก็มีหนุ่มตาสีฟ้าชวนฝัน
เดินเข้ามาชวนคุย พอคุยกันไปสักพัก น้องเอ๋อก็สังเกตเห็นว่า ท่าทางพี่
Robert จะไม่ค่อย enjoy งานนี้สักเท่าไหร่ น้องเอ๋อก็เลยบอกพี่ Robert
ว่า “I think you are boring.” พี่ Robert ชะงักไปนิดนึง ก่อนจะถามกลับ
“Really?” น้องเอ๋อก็ยืนยันความเป็นคนช่างสังเกตของตนเองว่า
“As far as we have talked, I think so.”

พอน้องเอ๋อพูดจบ พี่ Robert ก็เงียบไป 3 วินาที
ก่อนจะขอตัวไปเข้าห้องน้ำ แล้วก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

พอเจอหน้า น้องเอ๋อรีบปราดเข้ามาบ่นให้ฟัง “’จารย์ ดูดิ ทำงี้กะหนูได้ไง
หนูไม่เข้าใจเลยอยู่ดี ๆ ก็หายตัวไป ทิ้งให้หนูนั่งเหวออยู่คนเดียว”
แหมแค่นี้ยังน้อยไป เค้าไม่ฝากรอยเท้าเอาไว้นี่ก็นับว่าโชคดีแล้ว
เล่นไปว่าเค้าเสีย ๆ หาย ๆ หาว่าเค้าน่าเบื่อ (You are Boring.)
แทนที่จะบอกว่าเค้ารู้สึกเบื่อ (You are bored.)

คงจะคุ้น ๆ กันอยู่บ้างนะคะ บรรดาคำคุณศัพท์ที่ลงท้ายด้วย ing และ ed
หรือที่นักเรียนวัยจ๊าบเค้าเรียกกันว่า รูปอิ้งกับเอ็ด อันได้แก่ to interest,
interested, interesting, to surprise, surprised, surprising
และอีกบางส่วนซึ่งมักจะสร้างความงงงวยให้เราเหลือเกิน

แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของพวกเราแน่นอนค่ะ หลักง่าย ๆ มีอยู่ว่า
1) ใช้เป็น verb แท้ ซึ่งก็ผันไปตามประธาน (Subject)
และเปลี่ยนรูปไปตามกาล (tense) โดยมีรูปประโยคคือ
Subject + V. ที่ต้องการจะใช้ + Object
จะมีความหมายว่า ประธานทำให้กรรม .........

ตัวอย่างเช่น ถ้าจะพูดว่า สุนัขที่ดุร้ายตัวนั้นมักจะทำให้น้องมุกช็อค
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ก็ต้องใช้
Subject + present verb (s,es) + Object
ประโยคก็คือ That fierce dog always shocks Mook.

แต่ถ้าใครสับสนและแต่งประโยคออกมาเป็น
Mook always shocks that fierce dog.
ความหมายจะกลับตาลปัตรเลยนะคะ เพราะจะแปลว่า
น้องมุกมักจะทำให้สุนัขที่ดุร้ายตัวนั้นช็อค พูดอย่างงี้ ผิดปกติแน่นอน
หมายถึง น้องมุกน่ะ เธอจะต้องมีอะไรผิดปกติแน่นอนถึงสามารถ
ทำให้สุนัขที่ดุร้ายช็อคได้

ทีนี้ถ้าสมมุติว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวาน shock ก็ต้องเติม ed
เพื่อแสดงความเป็นอดีตกาลนะคะ แบบที่สอง รูป ed

ถ้าใช้กับ ประธาน + verb to be (is,am,are,was,were,been)+
รูป ed + preposition (บุพบท) + Object ก็จะมีความหมายว่า
ประธานรู้สึก ....... โดย,ต่อ + กรรม

คราวนี้เหตุเกิด เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ขณะที่น้องอังกำลังเดินใจลอย
คิดถึงพี่โกอยู่ บังเอิญมีสมุดเล่มนึงตกลงมา น้องอังสะดุ้งเฮือก
ร้องกรี๊ดไปแปดตลบ ประโยคก็จะต้องเป็น
Ang was frightened by the book. มีความหมายว่า น้องอังรู้สึกตกใจ

ในกรณีนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสลับที่ น้องอังกับหนังสือ ถ้าสลับเมื่อไหร่
ก็เตรียมวิ่งได้เลย หนังสือเล่มนั้นต้องเป็นหนังสือผีสิงแน่นอน
ถึงจะมีความรู้สึกนึกคิดได้ พูดง่าย ๆ ก็คือประธานของรูปประโยคแบบนี้
ต้องเป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดได้ มีอารมณ์ต่าง ๆ เช่น
หงุดหงิด (frustrate) รำคาญ (annoy) พึงพอใจ (satisfy) เป็นต้น

และสำหรับรูป ed นี้ สามารถใช้เป็นคำคุณศัพท์ขยายคำนามได้ด้วย
และจะหมายถึงนามที่รู้สึก ....
สมมุติว่า มีการสไตร์คเกิดขึ้นที่โรงงานของฉันทนา เนื่องจากพวกคนงาน
ไม่พอใจสวัสดิการที่ได้รับ แต่ด้วยความที่ฉันทนาเป็นคนสมถะ
เธอจึงพอใจในสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ แบบนี้
ฉันทนาจะถูกจัดเป็น one of the satisfied workers
ซึ่งก็คือ เป็นคนงานที่ no problem

อย่าเพิ่งมึนนะคะ เพราะยังเหลืออีกแบบนึง
แบบรูปอิ้ง (ing) น่ะค่ะ ใช้เป็นคำคุณศัพท์ที่บ่งบอกสภาพ
หรือลักษณะของคำนาม มีความหมายว่า น่า .......

ลองดูตัวอย่างกันสักนิดดีกว่า คราวนี้ พจมานนางเอกของเราไป
งานเลี้ยงวันเกิดที่บ้านเพื่อน ในขณะที่เธอกำลังหันรีหันขวาง
ชายกลางก็เดินมาชนเธอ แล้วกามเทพก็แผลงศรปักที่กลางใจ
ของพจมานพอดี เธอตกหลุมรักเขาทันที แต่ด้วยความเป็นกุลสตรี
เธอจึงได้แต่ยิ้มให้เขาหนึ่งที และมาเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามข้อมูลเกี่ยวกับ
ชายกลางจากหญิงอ้อม เพื่อนซี้ ซึ่งหลังจากที่หญิงอ้อมสาธยายสรรพคุณ
ของชายกลางว่า รูปหล่อ พ่อรวย หวยไม่เล่น เป็นคนดี มีชาติตระกูล
และ อื่น ๆ เธอก็สรุปให้พจมานฟังว่า “He is very interesting”
สั้น ๆ ได้ใจความ “เขาน่าสนใจมากนะ”

พจมานก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง หญิงอ้อมก็เลยย้ำอย่างหนักแน่นอีกที
“Really, he is a very interesting man.”
ถึงตอนนี้พจมานก็ยังไม่ค่อยแน่ใจและสับสนอยู่ เธอหยุดคิดสักพัก
แล้วก็ถามหญิงอ้อมว่า ตกลง 2 ประโยคนี้ต่างกันยังไง”

คำตอบก็คือ ทั้งสองประโยคนี้มีความหมายเหมือนกัน
ก็เหมือนเวลาที่เราพูดว่า
“He is handsome” กับ “He is a handsome man”
ซึ่งทั้ง 2 ประโยคนี้ก็หมายความอย่างเดียวกัน ฉันใดก็ฉันนั้นล่ะค่ะ

หรือเขียนออกมาเป็นรูปประโยคก็คือ
ประธาน + V. to be + รูป ing
อีกตัวอย่างก็ได้ค่ะ English is really confusing.
ภาษาอังกฤษช่างน่าสับสนเสียจริง ๆ

หรืออีกแบบหนึ่งใช้ รูป ing + คำนาม (ซึ่งอาจจะทำหน้าที่เป็นกรรม
หรือประธานในประโยคก็ได้) เช่น English is a really confusing language.
แปลได้ว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่น่าสับสนจริง ๆ หรือ
This confusing language causes me a headache.
ภาษา (อังกฤษ) ที่น่าสับสนนี้ทำให้ฉันปวดหัว

พอหอมปากหอมคอกันเท่านี้ก่อนแล้วกัน
กับพวก Verb และ adjective ที่ลงท้ายด้วย ed และ ing
หวังว่าคงจะพอเข้าใจหลักการใช้กันแล้วนะคะ
และก็อย่าลืมลองฝึกแต่งประโยคที่มีคำพวกนี้บ่อย ๆ รับประกันว่าต่อไป
These confusing words will not confuse you any more.

แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ

No comments: